นิทานท้องถิ่น นิทานพื้นบ้านเรื่อง ตาม่องล่าย เป็นนิทานประจำถิ่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระยองที่มีชื่อเสียงมาก นอกจากนี้ นิทานเรื่องนี้ยังได้เคยนำมาสร้างสรรค์ในรูปแบบของ ละครพันทางเรื่องตาม่องล่าย ซึ่งจัดแสดงเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ่งพิเศษอีกอย่างของนิทานเรื่องนี้คือชื่อของตัวละครก็ยังได้มีการนำมาใช้เป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ทั้งชื่อเกาะ และขุนเขา ตลอดจนสถานที่พักตากอากาศก็นิยมหยิบยืมเอามาใช้ให้จดจำสถานที่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เช่น ตาม่องล่ายรีสอร์ท จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยชื่อเสียงและเนื้อเรื่องที่น่าจดจำ นิทานเรื่องนี้ก็ยังเอาไปทำ เป็นละครด้วยเช่นกัน เรื่องตาม่องล่ายจึงเป็นนิทานที่มีชื่อเสียง แถมการใช้ชื่อไปอิงกับสถานที่ทำให้นิทานเก่าแก่นี้ผูกพันเป็นนิทานท้องถิ่นได้อย่างลงตัว
ณ หมู่บ้านอ่าวน้อย มีบ้านหลังหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวชื่อ “ม่องล่าย” มีเมียชื่อ “รำพึง” ทั้งสองมีลูกสาวชื่อ “ยม” เธอเป็นที่เลื่องลือทั้งความสวยงามและจิตใจ เป็นที่ชื่นชอบอยู่ในหมู่ชาวประมงและพ่อค้าวานิช ที่เคยเข้ามาค้าขายในอ่าวน้อย ขณะเดียวกันนั้นมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตเมืองเพชรบุรี มีเจ้าเมืองปกครองที่เป็นธรรม และมีลูกชายรูปงามชื่อ “เจ้าลาย. ได้ยินกิตติศัพท์ความงามของหญิงยม จึงคิดอุบายเพื่อชมความงามของนาง จึงได้ปลอมตัวเป็นชาวประมงล่องเรือขายปลา มาถึงหมู่บ้านอ่าวน้อย และได้ทำความรู้จักนางรำพึง ด้วยความขยันขันแข็งสุภาพอ่อนน้อมของเจ้าลาย ทำให้นางรำพึงยินดีให้เจ้าลายสนิทสนมกับสาวยม ส่วนตาม่องล่ายกลับไม่พอใจจึงขัดขวางทุกวิถีทาง
ความรักของคนทั้งสองเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้น เมื่อมีเรือสำเภาจีนเข้ามาค้าขาย และได้จอดทอดสมอเรือที่บริเวณหน้าบ้านตาม่องล่ายในอ่าวน้อย เจ้าของเรือคือ “เจ้ากรุงจีน” ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ความงามของสาวยม จึงตีสนิทกับตาม่องล่ายได้สำเร็จ แต่นางรำพึงไม่พอใจ ทั้งยายกับตามักจะมีปากเสียงกันด้วยเรื่องนี้อยู่เสมอๆ
ต่อมาเมื่อเจ้าลายส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอนางยมจากยายรำพึง ยายรำพึงรับขันหมากจากเจ้าลาย แต่กลับปกปิดไว้โดยไม่ให้ตาม่องล่ายรู้ ต่อมาเมื่อเจ้ากรุงจีนมาสู่ขอนางยมจากตาม่องล่าย ตาม่องล่ายก็ไม่ให้ยายรำพึงรู้เช่นกัน ทั้งสองต่างก็ปกปิดเรื่องสำคัญอันนี้ไว้
เมื่อถึงวันนัดหมายขบวนขันหมากของทั้งสองฝ่ายก็ยกเข้ามา โดยที่ทาง "เจ้ากรุงจีน" ยกเข้ามาทางด้านใต้ของอ่าวน้อย ส่วนขบวนขันหมากของ "เจ้าลาย" ยกเข้ามาทางด้านเหนือของอ่าวน้อย สร้างความตกตะลึงของทุกฝ่าย สองผัวเมียต่างมีปากเสียง เถียงกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นขว้างปาข้าวของใส่กัน จนกลายเป็นตำนานอันน่าทึ่งของสถานที่ต่าง ๆ สืบมาดังนี้
ยายรำพึงฉวยหมวกใบหนึ่งขว้างไปยังตาม่องล่าย แต่ตาม่องลายหลบได้ทัน หมวกนั้นจึงลอยไปตกบริเวณอ่าวเกาะหลัก หรืออ่าวประจวบ ฯ กลายเป็น“เขาล้อมหมวก” ฝ่ายตาม่องล่ายคว้ากระบุงขว้างไปที่ยายรำพึงแต่ไม่ถูก กระบุงเลยตกทะเลลอยไปทางทิศตะวันออก กลายเป็น“เกาะกระบุง” ในจังหวัดตราด ยายรำพึงเอางอบขว้างไป งอบลอยไปตกกลายเป็น “แหลมงอบ” ในจังหวัดจันทบุรี ตาม่องล่ายคว้าสากตำข้าวขว้างยายรำพึง สากลอยไปถูกเขาทะลุ กลายเป็น“เกาะทะลุ” ในอำเภอบางสะพานน้อย ส่วนสากลอยไปตกกลางทะเลกลายเป็น “เกาะสาก” ใน จ.ตราด
บรรดาข้าวของในขบวนขันหมากที่ตาม่องล่ายขว้างไปกระจัดกระจายไปตกในที่ต่างๆได้กลายเป็น “เขาขันหมาก” หรือเขาสามร้อยยอด ในกิ่งอำเภอสามร้อยยอด โดยพลูไปตกกลายเป็นหอยพลูมวน หมากตกไปกลายเป็น“เกาะหมาก” ขนมจีนตกไปกลายเป็น“สาหร่ายทะเล” ปูทอดตกลงไปเป็น“ปูหิน” กระจกส่องหน้าของสาวยมลอยไปติดที่เขาลูกหนึ่ง เรียกกันว่า “เขาช่องกระจก” ในเวลาต่อมา ส่วนตะเกียบไปตกกลายเป็น “เขาตะเกียบ” ที่อำเภอหัวหิน จานก็ตกเป็น“เกาะจาน” อยู่หน้าอ่าวคลองวาฬ เครื่องเพชรเครื่องทองทั้งหลายตกลงไปเป็น หอยดาว หอยทับทิม
ด้วยความเสียใจ ยายรำพึงเดินซมซานไปนอนรำพึง ถึงเคราะห์กรรมของครอบครัวตน จนกลายเป็น “เขาแม่รำพึง” ในอำเภอบางสะพาน ส่วนตาม่องล่ายหันมาเห็น ลูกสาวยม ที่คิดว่าเป็นต้นเหตุ จึงจับลูกสาวฉีกร่างออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งขว้างไปทางบ้านเจ้าลายทางเหนือ ตกลงกลายเป็น “เขานมสาว” อยู่บริเวณชายทะเลบ้านบางปู กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อีกซีกหนึ่งขว้างไปทางเมืองเจ้ากรุงจีน ทางด้านทิศตะวันออกกลายเป็น “เกาะนมสาว” ในจังหวัดจันทบุรี ส่วนเจ้าลายนั้นเดินทางกลับบ้านรู้สึกเศร้าเสียใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้นจนตรอมใจตายในที่สุด สถานที่แห่งนั้นกลายมาเป็น “เขาเจ้าลาย” ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนตาม่องลายนั้นก็เสียใจอย่างมากไปนั่งดื่มเหล้าจนเมามายอยู่ที่เชิงเขา ริมทะเล สุดท้ายก็เสียชีวิตกลายเป็นภูเขาชื่อ “เขาตาม่องล่าย” มาจนปัจจุบัน อยู่ที่หมู่บ้านอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น